ระบบคลังข้อมูลทางวิชาการ BRU

โภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัยสำคัญอย่างไร

Show simple item record

dc.contributor.author วิภารัตน์ อิ่มรัมย์
dc.date.accessioned 2019-06-14T08:39:00Z
dc.date.available 2019-06-14T08:39:00Z
dc.date.issued 2561-08-31
dc.identifier.citation ชั้นเรียน en_US
dc.identifier.uri http://dspace.bru.ac.th/xmlui/handle/123456789/4707
dc.description.abstract อาจมีผู้สงสัยว่า มนุษย์รู้จักกินมาตั้งแต่เกิด และกินกันมาตั้งแต่เมื่อมีมนุษย์อยู่ในโลกแล้ว ทำไมจะต้องมาเรียนวิชาโภชนาการด้วย ก็อาจกล่าวได้ว่า การกินโดยไม่มีความรู้ย่อมเป็นเหตุให้ป่วยไข้และสุขภาพทรุดโทรมได้โดยง่าย เนื่องจากการขาดสารอาหารได้ทั้ง ๆ ที่มีอาหารอยู่เต็มกระเพาะ เพราะไม่รู้จักกิน สถิติแสดงว่าในระยะ 50 ปีมานี้ ความรู้ในเรื่องโภชนาการได้ช่วยให้คนอายุยืนยาวเพิ่มจาก 45 ปี เป็น 70 ปี ช่วยให้สูงขึ้น 5 เซนติเมตร และน้ำหนักเพิ่มขึ้น 5 กิโลกรัม ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนา ยังเป็นโรคขาดอาหารกันมาก อายุเฉลี่ยของคนจะอยู่ระหว่าง 33-50 ปีเท่านั้น เนื่องจากอัตราตายของทารกและเด็กสูง และสุขภาพก็ไม่ดี จากการสำรวจภาวะโภชนาการในคนไทยเรา ปรากฏว่าผู้ที่มีฐานะดีหรือชาวกรุงชักจะเริ่มเป็นโรคอ้วนกันมาก ส่วนผู้ที่อยู่ตามชนบทยังเป็นโรคขาดอาหารกันมาก โดยเฉพาะคือธาตุเนื้อ-ทำให้เกิดโรคตาลขโมย ขาดวิตามินเอ-ทำให้เป็นโรคตาฟาง ขาดวิตามินบีหนึ่ง-ทำให้เป็นโรคเหน็บชา ขาดวิตามินบีสอง-ทำให้เกิดเป็นโรคปากนกกระจอก ขาดธาตุเหล็ก-ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง ขาดธาตุไอโอดีน-ทำให้เป็นโรคคอพอก ขาดธาตุแคลเซี่ยม-ทำให้เป็นโรคกระดูกอ่อน ทั้งนี้เนื่องจากเรายังไม่รู้จักกิน หรือกินไม่เป็น เข้าใจไปว่าการกินข้าวมากจนอิ่มท้องก็เป็นการเพียงพอแล้ว โดยที่ไม่รู้ถึงความสำคัญของสารอาหารแต่ละชนิด รวมทั้งเกลือแร่ และวิตามิน เราจึงกินข้าว(ธาตุน้ำตาล)กันมากเกินไป แต่หย่อนธาตุเนื้อและไขมัน ฉะนั้น จึงควรลดข้าวให้น้อยลง และกินกับให้มากขึ้น ถ้าหากเป็นถิ่นที่เนื้อสัตว์หายาก ก็พึงกินพวกถั่วต่าง ๆ รวมทั้งอาหารซึ่งทำจากถั่ว เช่น น้ำนมถั่วเหลือง เต้าหู้ เต้าหู้ยี้ ซึ่งใช้แทนพวกเนื้อสัตว์ได้ดี ส่วนพวกมะพร้าว ถั่ว และน้ำมันพืช ก็ใช้แทนพวกไขมันสัตว์ได้ดี อนึ่ง พึงระลึกไว้เสมอว่า ยอดอาหารของมนุษย์นั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ นมและไข่ โดยที่มีสารอาหารต่าง ๆ เกือบครบถ้วน ฉะนั้น ผู้ที่เกรงว่าจะเป็นโรคขาดสารอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงควรกินนมและไข่เป็นครั้งคราว หรือถ้ากินเป็นประจำได้ก็ยิ่งดี อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุช่วยให้ประชาชนเป็นโรคขาดอาหาร ก็คือการที่มีพยาธิลำไส้อยู่มาก โดยที่พยาธินานาชนิดเหล่านี้จะคอยดูดเลือด และแย่งอาหารดี ๆ ในลำไส้ไปใช้ ฉะนั้น จึงจำต้องจัดการถ่ายพยาธิออกเสียให้หมด และอบรมประชาชนให้รู้จักกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะด้วย สารอาหารคืออะไร ในทางโภชนาการ เราแบ่งอาหารออกได้เป็น 6 พวก ตามส่วนประกอบทางเคมี และตามหน้าที่อันพึงมีต่อร่างกาย เรียกสารอาหารหรือธาตุอาหาร ดังนี้ 1. ธาตุน้ำตาล ช่วยให้พลังงานและความร้อนแก่ร่างกาย 2. ธาตุไขมัน ช่วนให้พลังงานและความร้อน กับให้กรดไขมันที่จำเป็นแก่ร่างกาย 3. ธาตุเนื้อ ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมสิ่งสึกหรอ ช่วยสร้างกำลังเพื่อต้านทานโรค ให้พลังงาน และให้กรดอะมิโนที่จำเป็นแก่ร่างกาย 4. เกลือแร่ มีอยู่หลายสิบชนิดด้วยกัน ช่วยในการสร้างกระดูก ฟัน และเลือด ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมสิ่งที่สึกหรอ กับช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ 5. วิตามิน มีอยู่กว่าสิบชนิด แบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ คือ พวกที่ละลายในน้ำและที่ละลายในน้ำมัน ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต และช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ 6. น้ำ มีความสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของเซลล์ ช่วยการไหลเวียนของเลือด การย่อยอาหารและการขับถ่าย ช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น ความสำคัญของน้ำต่อร่างกายนั้นมีมาก เพราะเป็นส่วนประกอบถึง 70% ของน้ำหนักตัว จะเห็นได้ง่าย ๆ ว่าในรายที่ท้องร่วง จะทำให้ร่างกายหมดเรี่ยวแรงจนถึงกับตายได้ ทั้งนี้เนื่องจากการที่ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ที่ละลายอยู่ในน้ำนั่นเอง ฉะนั้นนอกจากเราจะได้รับน้ำจากอาหารต่าง ๆ แล้ว ยังต้องดื่มน้ำอีกวันละหลาย ๆ แก้ว อาหาร 5 หมู่ เนื่องจากอาหารที่เรากินนั้นมีมากมาย แต่ละชนิดก็มีธาตุอาหารอยู่มากน้อยแตกต่างกันไปตามธรรมชาติ จึงนิยมจัดเข้ารวมไว้เป็นพวกเป็นหมู่ โดยถือเอาความสำคัญที่จะได้รับประโยชน์ของธาตุอาหารเป็นหลัก ดังนี้ 1. หมู่ข้าว มีธาตุน้ำตาลเป็นสำคัญ ได้แก่ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล เผือก มัน และของหวานต่าง ๆ 2. หมู่เนื้อ มีธาตุเนื้อเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเกลือแก่และวิตามินด้วยได้แก่เนื้อสัตว์ นม ไข่ ปลา หอย เลือด อวัยวะเครื่องใน และพวกถั่วนานาชนิด 3. หมู่ไขมัน มีธาตุไขมันเป็นสำคัญ มีวิตามินที่ละลายในไขมันได้วย ได้แก่น้ำมันจากพืชและจากสัตว์ เช่นน้ำมันหมู น้ำมันรำ น้ำมันถั่ว ไข่แดง เนย นม และมะพร้าว 4. หมู่ผัก มีเกลือแร่และวิตามิน 5. หมู่ผลไม้ มีเกลือแร่ วิตามิน และธาตุน้ำตาล นอกจากนี้ยังมีเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้รสชาติหรือกลิ่นของอาหารดีขึ้น เช่น เครื่องเทศ น้ำปลา พริกป่น พริกไทย น้ำส้ม ฯลฯ ถึงแม้ว่าเราจะกินกันไม่มากมายนัก แต่ก็นับว่ามีความสำคัญในการที่ช่วยให้กินอาหารได้มากขึ้น กับช่วยให้ร่างการได้รับธาตุเนื้อ เกลือแร่ และวิตามินบางอย่างด้วย แต่ถ้ากินมากเกินไป เช่นพริกหรือเครื่องเทศ ก็อาจเป็นผลร้าย ทำให้เกิดเป็นโรคแผลของกระเพาะอาหารได้ จึงต้องพึงระวัง และโดยที่ร่างกายของคนเราต้องการสารอาหารหลายอย่าง ซึ่งจะให้ประโยชน์แก่ร่างกายแตกต่างกัน แต่ไม่มีอาหารชนิดใดเพียงชนิดเดียว ที่จะมีสารอาหารต่าง ๆ ในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย ดังนั้นในวันหนึ่ง ๆ เราจึงต้องกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ได้ธาตุอาหารครบถ้วน โภชนาการกับเด็กปฐมวัย การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการจะช่วยให้ร่างกายเด็กเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมให้กับลูกในวัยระหว่าง 1-6 ปีหรือวัยก่อนเรียน เด็กควรได้รับอาหารมื้อหลัก 3 มื้อที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่และหลากหลาย อาหารว่างไม่เกินวันละ 2 มื้อ และอย่างลืมให้เด็กดื่มนมวันละ 2-3 แก้วด้วย รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ หัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านว่าโภชนาการที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมพัฒนาการของลูก โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาลคือ 16 ปี ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งร่างกายและสมอง โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมองในช่วง 3 ขวบปีแรก การให้เด็กได้รับอาหารที่เหมาะสม มีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนเพียงพอ จึงเป็นการวางรากฐานชีวิตที่ดีสำหรับเด็กทั้งปัจจุบันและอนาคต การเติบโตของเด็กมีปัจจัยหลายด้าน ทั้งด้านพันธุกรรม ฮอร์โมน ภาวะโภชนาการ โรคทางกาย และสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบการเจริญเติบโคของเด็กได้โดยวัดความยาวหรือส่วนสูง น้ำหนัก และวัดเส้นรอบศีรษะ ร่วมกับการดูขนาดของกระหม่อม ขนาดเส้นรอบอกและการขึ้นของฟัน อาหารหลักและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของเด็กวัย 0-6 ปี มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาการทางสมองและร่างกายทุกๆ ส่วน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการมักช่วยป้องกันโรคในเด็ก ไม่ให้เจ็บป่วยบ่อย ซึ่งจะมีผลทำให้การเรียนรู้และพัฒนาการที่สมวัยของเด็ก นอกจากกรรมพันธุ์และการเลี้ยงดูแล้ว อาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยพัฒนาให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง สมองแจ่มใส และอารมณ์ที่เบิกบาน อาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กอย่างมาก จากการวิจัยพบว่าเด็กปฐมวัยมีแนวโน้มน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ได้มาตรฐาน มากกว่า 1 ใน 10 ของเด็กในวัยนี้ยังมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ นอกจากนี้จากการสำรวจสถานการณ์เด็กในประเทศไทย พ.ศ.2548-2549 แสดงให้เห็นว่ามากกว่า 1 ใน 10 ของเด็กปฐมวัยยังมีภาวะเตี้ยอยู่ และประมาณ 9% มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ การปรับโปรแกรมอาหารของเด็กรวมถึงคุณค่าของสารอาหารที่เด็กได้รับมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโต การสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการในปี 2546 พบว่าเด็กไทยทั้งชายและหญิงอายุ 0-5 ปี แม้ว่าจะมีแนวโน้มน้ำหนักเฉลี่ยและส่วนสูงเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นแต่ยังคงน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ จากข้อมูลการสำรวจดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับอาหารที่ครบถ้วนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 6 ปี อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยกำลังโต การได้รับประทานอาหารที่ถูกสัดส่วนจะช่วยวางรากฐานที่ดีสำหรับอนาคตของเด็กได้ ในวัยทารก เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือนแล้วจึงค่อยให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่อาจพิจารณาให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ก่อนอายุ 6 เดือน ถ้ามีความจำเป็น โดยในช่วง 4-6 เดือนต้องเป็นอาหารที่บดละเอียด ค่อนข้างเหลว เมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไปก็อาจให้เป็นอาหารที่ข้นขึ้นหรือหยาบมากขึ้น เมื่อเด็กมีอายุครบ 1 ปี ไม่จำเป็นต้องบดอาหารอีกต่อไป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของทารกตามอายุที่ควรได้รับ ที่มา: สุขภาพคนไทย 2551 อายุ อาหารเสริม แรกเกิดถึง 4 เดือน กินนมแม่อย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน 4 เดือน ข้าวบดละเอียดผสมน้ำต้มกระดูก น้ำต้มผัก น้ำต้มตับใส่ไข่แดงต้มสุกขนาด 1 ช้อน ผสมกับตับ กล้วยน้ำว้าสุกครูดปริมาณ 1-2 ช้อนชาแล้วค่อยเพิ่มจนถึง ? ถ้วยแล้วให้กินนมแม่ร่วมด้วย 5 เดือน ควรเพิ่มปลาต้มสุกและผักต้มเปื่อยประมาณ ? ถ้วย 7 เดือน ควรเพิ่มผักผลไม้และอาหารว่างและสามารถให้รับประทานเนื้อไข่ทั้งฟองได้ โดยปริมาณอาหารทั้งหมดคือ 1 ถ้วยสามารถแทนนมได้ 1 มื้อ 8-9 เดือน สามารถทานอาหารหยาบได้มากขึ้นและให้อาหารแทนนมได้ 2 มื้อ 10-12 เดือน สามารถทานอาหารหยาบได้มากขึ้นโดยไม่ต้องบด ให้อาหารแทนนมได้ 3 มื้อ สำหรับช่วงอายุ 1-5 ปี เป็นช่วงของการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมอง โดยเฉพาะใน 2 ขวบปีแรก สมองจะมีการพัฒนาการและเจริญอย่างรวดเร็วมากจนถึง 80% ของสมองที่โตเต็มวัย ดังนั้นอาหารที่เด็กก่อนวัยเรียนจึงมีความสำคัญมาก การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันและเกลือแร่จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสติปัญญาที่สมบูรณ์พร้อม ตารางแสดงอาหารของเด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 1-5 ปี) ที่มา: สุขภาพคนไทย 2551 อาหาร ปริมาณที่ควรได้รับ เนื้อสัตว์ต่างๆ และเครื่องในสัตว์ วันละ 5-6 ช้อนแกง ตับ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไข่ วันละ 1 ฟองกินทุกวัน น้ำนมหรือนมถั่วเหลืองแทนได้ วันละ 2-3 แก้ว ข้าวหรือธัญพืชอื่นๆ วันละ 4-5 ทัพพี ผักสีเขียวหรือผักสีอื่นๆ วันละ 2-3 ทัพพีหรืออาจเป็น 1/2 - 1 ทัพพีในแต่ละมื้อ ผลไม้ ควรให้รับประทานทุกวัน วันละ 2-3 ชิ้น เช่น กล้วย 1 ผล มะละกอสุก 1 เสี้ยว ไขมัน น้ำมันพืชวันละ 2 ช้อนโต๊ะในรูปของการผัดหรือการทอด อาหารที่มีประโยชน์ในการพัฒนาการเจริญเติบโตของสมองของเด็กวัย 2-6 ปี * ตับ ไข่แดง เลือด จะช่วยเพิ่มความจำและสมาธิ เพราะมีธาตุเหล็กสูง * ปลา (เนื้อปลา น้ำมันปลา) ช่วยพัฒนาการความจำและเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่าเดนไดรต์ (dendrite) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เด็กได้เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง คือ จะสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ง่ายและรวดเร็ว * ผัก ผลไม้ ผักสีเขียว และเหลืองแดง ให้วิตามินซี เพื่อนำไปสร้างเยื่อบุต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งยังให้วิตามินเอทำให้เซลล์ประสาททำงานเต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพัฒนาการของสมอง นอกจากนี้ในอาหารจำพวกผักและผลไม้ยังมีวิตามินและเกลือแร่จำพวกต่างๆ ที่จะช่วยในการทำงานของเซลล์สมองในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทำให้เซลล์สมองมีการทำงานลดลง ทำให้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก * ปลา เนื้อสัตว์ นม มีแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซียม สังกะสี ฟอสฟอรัส ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมอง * อาหารทะเลและเกลือเสริมไอโอดีน แร่ธาตุไอโอดีนมีความสำคัญต่อระดับ IQ คือป้องกัน IQ ต่ำ และ โรคเอ๋ออีกด้วย * ผักตระกูลกะหล่ำ (ทำให้สุก) และน้ำนมแม่ สามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่จะทำลายเซลล์สมองได้ ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่เพื่อช่วยให้เด็กเล็กรับประทานอาหารได้ง่าย 1. ให้เด็กได้รับประทานอาหารครบทั้ง 3 มื้อ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ถ้าหิวมากอาจให้ผลไม้ก่อน แล้วจึงให้อาหารมื้อหลัก 2. จัดอาหารให้น่ารับประทาน ตกแต่งจานให้สวยงาม มีสีสันเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก ขนาดชิ้นอาหารควรพอดีคำ นุ่มเคี้ยวง่าย ควรตักอาหารและแบ่งอาหารให้พอดีกับที่เด็กจะรับประทานหมด และเป็นกำลังใจให้คำชมเชยทุกครั้งที่เด็กรับประทานอาหารหมด พ่อแม่ควรจัดวางผักและผลไม้บนโต๊ะอาหารทุกครั้ง 3. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างในการรับประทานอาหารที่ดีให้แก่ลูก ไม่เลือกอาหารและสนุกกับการรับประทานอาหาร 4. สร้างบรรยากาศที่ดีในการรับประทานอาหารมื้อหลัก อาจมีนิทานประกอบการรับประทานอาหาร สร้างความเพลิดเพลินและจูงใจให้ลูกรับประทานอาหารได้มากขึ้น การได้อาหารที่เพียงพอและถูกสัดส่วนเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์ เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงประเทศใดก็ตามที่ประชาชนที่กินดี ย่อมมีภาวะโภชนาการที่สมบูรณ์และได้เปรียบ มีขุมพลังในการพัฒนาประเทศ ถ้าหากประชาชนสนใจและเข้าใจในเรื่องโภชนาการ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัวแล้ว จะเป็นกำลังสำคัญในการแก้และลดปัญหาทุพโภชนาการ ที่ประเทศไทยเราประสบอยู่ en_US
dc.language.iso th_TH en_US
dc.publisher มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ en_US
dc.subject โภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย en_US
dc.title โภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัยสำคัญอย่างไร en_US
dc.title.alternative How important is nutrition for early childhood? en_US
dc.type Article en_US
dc.contributor.emailauthor wiparat.ir@bru.ac.th en_US


Files in this item

This item appears in the following Collection(s)

Show simple item record

Search DSpace


Advanced Search

Browse

My Account

Statistics